ก่อนอื่นผมต้องขอท้าวความก่อนว่าบทความนี้เป็นบทความสำหรับผู้ที่พอจะมีความรู้ในการใช้งานโปรแกรม Affinity Designer บ้างแล้ว ในขั้นพื้นฐานนะครับ เพราะว่าผมเองคงจะไม่กล่าวถึงคุณสมบัติของแต่ละเครื่องมือในขั้นพื้นฐาน หรือวิธีการที่มันเป็นพื้นฐานสุด ๆ จนเกินไปเพราะนั้นอาจจะทำให้ให้บทความนี้มีความยาวมากเกินไป (จริง ๆ มันก็ยาวนั้นแหละ ถถ) ผมเลยจัดทำเป็นคลิปสอนมาไว้ด้วย (แต่ไม่มีเสียงนะ) ซึ่งก็น่าจะสามารถทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างดี
การสร้างภาพแบบแมนดาลา (Mandala) ด้วยโปรแกรมออกแบบกราฟฟิค Affinity Designer นั้นมีการใช้งานเครื่องมือและความสามารถของ Symbol เป็นสำคัญครับ โดยก่อนที่เราจะไปลุยกับการสร้างแมนดาลา เรามาปูพื้นฐานกันก่อนด้วยการใช้งาน Symbol และการสร้างภาพแบบกระจกเงา (Mirror) กันก่อน ซึ่งสามารถดูได้จากคลิปนี้
คลิปสาธิตวิธีการสร้างงานแบบมิลเลอร์ (Mirror) ด้วยโปรแกรม Affinity Designer
หลักการในการใช้งานเท่าที่สามารถสรุปได้สั้น ๆ ก็จะมี
- ใช้รูปทรงอะไรก็ได้ (ในคลิปคือรูปสี่เหลี่ยม) เพื่อสร้าง Symbol
- ก็อปปี้ Symbol นั้นเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอัน จากนั้นก็ทำการ “กลับด้านจากซ้ายไปขวา” และนำมาวาดสแนปให้ติดกัน
- เริ่มวาดลวดลายจากเลเยอร์ของ Symbol อันแรก แต่ให้ทำการปิดตารูปทรง Object ของ Symbol นั้น
มีแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้นเองครับในการทำ ส่วนเนื้อหาปลีกย่อยเพื่อความวิจิตรบรรจงในการสร้างงานนั้น ก็ต้องสุดแล้วแต่จิตนาการของใครของมัน ซึ่งในการหมุน กลับด้าน ของ Symbol นอกจากจะกลับด้านให้มันเป็นตรงกันข้ามแบบมิลเลอร์ (Mirror) หรือแบบสะท้อนกระจกเงา หรือแบบจากซ้ายไปขวาได้แล้ว มันยังสามารถกลับด้านไปในทิศทางต่าง ๆ หรือตำแหน่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระตามที่เราต้องการ
เพราะถึงอย่างไรภาพที่เราวาดจาก Symbol แรกสุด มันก็จะทำการซิงโครนัส (Synchronous) ไปยัง Symbol อื่น ๆ ที่เราได้ทำการก็อปปี้มานั้นเอง และนี้แหละครับ! คือคุณสมบัติสำคัญของการทำภาพแบบมิลเลอร์ หรือการสร้างภาพแบบแมนดาลา (Mandala) ด้วยโปรแกรม Affinity Designer
มาเริ่มสร้างภาพแมนดาลา (Mandala) ด้วยโปรแกรม Affinity Designer กันเถอะ!
ใครที่ยังไม่ทราบนะครับว่าภาพแมนดาลาคืออะไร สามารถลองกลับไปอ่านบทความเก่าได้เลย ทำความรู้จักกับ Mandala (แมนดาลา) ศิลปะแห่งความสมดุลของจักรวาล! ทีนี้ผมไม่ขอพูดพร่ำทำเพลงกันแล้วเพราะพูดมายาวแล้ว มาเริ่มกันเลยดีกว่า 🙂
ขั้นตอนที่ 1
สร้างไฟล์งานขึ้นมา จากนั้นก็ใช้งาน Pen Tool ลากเส้นไกด์นำขึ้นมา 1 เส้น จัดวางเอาไว้ตรงกลางของอาร์ตบอร์ด
ขั้นตอนที่ 2
ทำการก็อปปี้ (Copy) เส้นที่ลากเมื่อสักครู่นี้เพิ่มมาหนึ่งเส้น จากนั้นให้เลือกเส้นที่ก็อปปี้เอาไว้ ปรับแกนหมุนให้อยู่ตำแหน่งจุดศูนย์กลางด้วยการเปิดปุ่ม (Enable Transform Origin) ตรงแถบคุณสมบัติของเครื่องมือ (Property Toolbar) ด้านบนและลาดเอาจุดมาร์กศูนย์กลางที่ปรากฎมาไว้ตรงกึ่งกลางเส้น จากนั้นกดปุ่ม “Shift” ค้างไว้และทำการหมุน จะสามารถหมุนได้ 15 องศาเท่ากันพอดี
ขั้นตอนที่ 3
เมื่อได้เส้นแรกจากขั้นตอนที่สองแล้ว คราวนี้ก็ง่ายแล้ว เราก็กดปุ่ม “Ctrl+J” ซ้ำไปเลยครับ มันจะได้ล็อกของการก็อปปี้ในครั้งแรกซ้ำไปแบบเท่า ๆ กันทีละ 15 องศา กดไปเรื่อย ๆ จนมันครบวง (360 องศา) จากนั้นก็ทำการกรุ๊ป (Group) เส้นทั้งหมดเอาไว้ เพื่อกันความสับสน และตั้งชื่อเลเยอร์ว่า “เส้นไกด์ไลน์” หรืออะไรก็ได้ที่คุณจะไม่สับสนตามที่สะดวก
ขั้นตอนที่ 4
มาเริ่มสร้าง Symbol กัน! โดยขั้นตอนนี้ให้สร้างรูปทรงขึ้นมา 1 รูป (จากภาพผมใช้รูปสี่เหลี่ยม) สร้างเล็ก ๆ นะครับอย่างใหญ่โตเหมือนผม ถถ จากนั้นก็ลากมันมาสแนปให้ติดกับเส้นไกด์ไลน์เส้นแรกที่เราสร้าง (เราจะสร้างลวดลายแมนดาลาจากเลเยอร์นี้แหละ ให้จำเอาไว้!)
ขั้นตอนที่ 5
คลิกเลือกรูปสี่เหลี่ยมที่เราสร้างเอาไว้นะครับ จากนั้นก็เปิดพาเลท Symbols ขึ้นมา โดยไปที่เมนู View > Studio > Symbols ในพาเลทซิมโบล คลิกที่ปุ่ม “Create” สีส้ม ๆ ปุ่มแรก และปุ่มต่อไปต้องให้แน่ใจว่าปุ่ม “Sync” สีส้มนั้น ได้ถูกคลิกเปิดใช้งานอยู่ เพราะนี้คือหัวใจสำคัญเลย ซึ่งมันหมายความว่า เราต้องการให้มีการซิงโครนัส (Synchronous) ของซิมโบลอันนี้! หมายความอีกว่า ถ้าซิมโบลอันแม่แบบที่เราสร้างนี้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สี หรืออื่น ๆ ทุก ๆ ซิมโบลที่ถูกก็อปปี้ไปจะมีการซิงโครนัส (Synchronous) ตามไปด้วยเสมอ
ขั้นตอนที่ 6
เมื่อเราทำการสร้าง Symbol ได้แล้ว คราวนี้ก็ทำการก็อปปี้ซิมโบลนั้นออกมา 1 ชิ้นครับ และให้ทำการลากมันไปวางข้าง ๆ ซิมโบลอันแรกให้สแนปติดกันเอาไว้ จากนั้นก็กดปุ่ม “Flip Horizontal” บนแถบเมนูบาร์ด้านบน พลิกมันให้กลับด้านทางแนวนอน หรือจากซ้ายไปขวาจากขวาไปซ้ายนั้นเอง
ขั้นตอนที่ 7
จัดการกรุ๊ปทั้งสองซิมโบลเอาไว้ด้วยกัน (กันงง และเพื่อให้มันใช้งานจุดศูนย์กลางเดียวกัน) เลื่อนแกนจุดหมุนให้อยู่ตำแหน่งจุดศูนย์กลาง และตรงกับจุดศูนย์กลางของเส้นไกด์ไลน์พอดี ด้วยการเปิดปุ่ม (Enable Transform Origin) ตรงแถบคุณสมบัติของเครื่องมือ (Property Toolbar) ด้านบน
ขั้นตอนที่ 8
ก็อปปี้มันออกมาครับ (Symbol) และกดปุ่ม “Shift” พร้อมกับหมุนมันให้ได้องศาในการหมุน ทำแบบเดียวกันกับขั้นตอนที่ 2 เลย เพียงแต่ว่า คราวนี้ให้ทำในแบบระยะห่างช่องละ 30 องศา และให้มันสแนปติดอยู่ตรงเส้นที่ห่างไป 30 องศา ตามลำดับ
ขั้นตอนที่ 9
กดปุ่ม “Ctrl+J” ก็อปปี้มันไป ในตำแหน่งที่เท่า ๆ กันจนครบเต็มวง! เราก็จะได้ซิมโบลที่ก็อปปี้มันออกมาแบบช่องเว้นช่องในระยะห่างที่เท่ากันพอดี จากนั้นทำการกรุ๊ปมันเอาไว้ครับ เพื่อกันงง!
ขั้นตอนที่ 10
ทำงานที่พาเลทชื่อว่า “Layer” เปิดเลเยอร์ที่เราได้กรุ๊ปซิมโบลเอาไว้ และให้เลื่อน ๆ ๆ ๆ ลงมาจนเจอเลเยอร์ที่รูปทรงซิมโบลแรกสุด ในที่นี้คือเลเยอร์ที่ชื่อว่า “Retangle” ซึ่งรูปทรงนี้จะอยู่ในกลุ่มที่ชื่อว่า “Symbol” ให้ทำการปิดตาเลเยอร์ “Retangle” นี้ครับ
สำคัญ ในการสร้างลวดลายต่าง ๆ ของแมนดาลา เราก็ต้องใส่ลาย เพิ่มเส้นหรือรายละเอียดที่ต้องการต่าง ๆ ให้อยู่ภายในเลเยอร์ Symbol อันแรกสุดที่เราสร้างทั้งหมด
ขั้นตอนที่ 11
รออะไรครับ?! เริ่มสร้างลวดลายตามจิตนาการของคุณได้เลย 🙂 การสร้างลวดลายนั้นให้เริ่มจากช่องที่เราได้สร้างซิมโบลต้นแบบชิ้นแรกสุด ในที่นี้ก็คือช่องที่ผมได้ทำไฮไลท์แถบเหลืออ่อน ๆ ไว้นั้นเอง ก็คือช่องที่ผมบอกให้จดจำเอาไว้ดีดีในขั้นตอนที่ 4 นั้นแหละครับเมื่อเริ่มสร้างจะเห็นว่าเส้นหรืออะไรก็ตามที่เราใส่ในช่องนี้ ก็จะมีผลเกิดขึ้นในช่องอื่น ๆ แบบเรียลไทม์เลยทีเดียว!
เมื่อเราวาดหรือใส่อะไรลงไปก็ตามในช่องนี้ ผลที่ได้รับก็คือ ทุก ๆ ช่องของซิมโบลอื่น ๆ มันก็จะทำการซิงโครนัส ไปพร้อมกันแบบเรียลไทม์ และทำการกลับด้านเป็นแบบมิลเรอร์ให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งอันนี้แหละครับเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเวลาที่เราก็อปปี้ซิมโบลไปไว้ในตำแหน่งของเส้นไกด์ไลน์ จะต้องทำแบบช่องเว้นช่อง 30 องศา แทนที่จะเป็น 15 องศาตามแบบของเส้นไกด์ ก็เพราะว่าเราได้ทำการสร้างซิมโบลแบบกระจกเงา (Mirror) นั้นเอง และมันจะได้มีพื้นที่สำหรับการสร้างงานด้วยครับ
แต่ถามว่าแล้วเราจะก็อปปี้ไปตามเส้นไกด์เลยทุก ๆ 15 องศาได้หรือไม่? คำตอบคือ ได้ครับ! มันก็จะทำการซิงโครนัสไปเหมือนกัน อันนี้มันคือเทคนิคตังหาก ที่เราจะต้องทำการสังเกตุ และดัดแปลงเอาเอง
ปิดท้ายกันด้วยคลิปดีกว่า เผื่อใครไม่อยากอ่านยาว ๆ ถถ (แต่ดันเอามาไว้ซะตอนท้ายบทความเนี้ยนะ!!) ไม่มีเสียงอีกตามเคย เพราะเสียงผมไม่หล่อ 🙂
ขอบคุณสำหรับการอ่านและติดตามบทความครับ ถ้าชอบหรือไม่ชอบประการใดก็แสดงความคิดเห็น แนะนำ ติ ชม กันได้ที่ช่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้เลย หรือจะเลือกดูบทความอื่น ๆ ในเว็บไซต์นี้ก็ได้เหมือนกัน จนกว่าจะพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ 🙂