ออกแบบนามบัตรอย่างไรให้เจ๋งเป้ง!

ไม่ว่าโลกเราจะหมุนเร็วไปขนาดไหน ไม่ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ ระบบไร้สายจะฉับไวขนาดไหน

คนทำธุรกิจทุกคนคงจะปฎิเสธไม่ได้ครับว่า “นามบัตร” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของหน้าต่างที่จะเปิดกว้างไปสู่เป้าหมายและเป็นการสื่อสารสร้างปฎิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวได้อย่างดีที่สุดเสมอมา

ผมในฐานะนักออกแบบ มีโจทย์อยู่มากมายเช่นกันครับ ที่ต้องสร้างสิ่งสำคัญอย่างนามบัตรเหล่านี้ให้ธุรกิจของลูกค้าแต่ละคนโดนเป้าถึงใจ แน่นอน! นักออกแบบอย่างผมหรือคุณ ๆ ทั้งหลายที่ต้องคอยตอบสนองไอเดียที่สุดจะคลาสสิคนี้ของนักธุรกิจก็ต้องย่อมมีการพัฒนาตัวเองและต้องรู้ถึงหลักเกณฑ์สำคัญ ๆ ที่จะหลงลืมไปเสียไม่ได้เลยในการออกแบบนามบัตรให้ตรงใจลูกค้า แล้วเวลาที่ลูกค้าเจ้าของนามบัตรนั้นนำเอาไปใช้งานส่งมอบให้คู่ขาธุรกิจ ก็ย่อมต้องได้รับความสนใจจากผู้ที่ได้รับด้วยเช่นกัน

เราจะทำอย่างไรให้งานออกแบบนามบัตรของเราเจ๋ง! แบบไร้ที่ติดีล่ะ?

  1. ดีไซน์ให้โดนให้ตรงตามธุรกิจที่มีชื่ออยู่ในนามบัตรนั้น ๆ
    ธุรกิจแต่ละประเภท ตั้งแต่ขายสากกะเบือยันเรือรบ ทุกอย่างย่อมมีเอกลักษณ์และสินค้าที่เป็นจุดขายของตัวเองหมดครับ เรานักออกแบบมีหน้าที่ตีโจทย์นั้นให้แตกและต้องหาจุดเด่นจุดขายของธุรกิจที่เราจะออกแบบนามบัตรนั้นให้เจอ มันคือหน้าที่ของเราครับ
  2. เลือกโปรแกรมที่เหมาะสมในการออกแบบ
    โปรแกรมที่ใช้ทำออกแบบนามบัตรในปัจจุบันมีเป็นสิบเป็นร้อยโปรแกรมครับ ถ้าถามถึงเรื่องนี้ นักออกแบบทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “อิลาสฯ (Illustrator)” ไงเพราะมันคือโปรแกรมออกแบบครอบจักรวาล แต่ แต่! ช้าก่อน! ถ้าผมจะบอกว่าผมจะใช้ Photoshop ออกแบบล่ะมันจะได้มั้ย? คำตอบคือได้ครับ! ความเหมาะสมของโปรแกรมที่ใช้ในที่นี้ของผมหมายถึง หากคุณมีไอเดียและต้องการสร้างมันไปทางกลุ่มหรือประเภทไหนก็ต้องใช้โปรแกรมนั้นให้เหมาะ เช่น เราต้องการสร้างนามบัตรที่มีการสร้างสรรค์แบบเต็มยศจากรูปภาพ ซึ่งมันคือ Bitmap นึกภาพออกแล้วใช่มั้ยครับว่าจะใช้โปรแกรมอะไรสร้างสรรค์ Bitmap นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าต้องการสร้างเอ็ฟเฟ็กซ์ หรืออยากได้แบบ 3D ด้วยแล้วล่ะก็จงอย่างยึดติดกับโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งครับ
  3. อย่ายึดติดกับวัสดุ
    มันเชยระเบิดไปแล้ว กับการทำนามบัตรและต้องมาปริ้นลงกระดาษธรรมดา ๆ แผ่นเรียบ ๆ มันหมดยุคไปแล้วครับ ที่เราจะทำแบบนั้น แต่ผมไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารทำได้นะเพราะปฎิเสธไม่ได้ว่ามันคือเบสิคสุด ๆ ที่ต้องกระทำและต้องมี ผมแค่อยากจะให้ลองหาไอเดียใหม่ ๆ เกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ผลิต เช่น ไม้ แผ่นโลหะ พลาสติก เหล่านี้ล้วนนำมาเป็นไอเดียวัสดุเจ๋ง ๆ ในการทำนามบัตรได้แน่นอน อยู่ที่ว่าเราจะประยุกต์มันยังไงให้ปังให้วัสดุนั้นมันเข้ากันกับธุรกิจบนหน้านามบัตร หรืออาจจเป็นกระดาษเหมือนเดิมก็ได้ แต่เราอาจจะใส่ไอเดียเข้าไป ทำเป็นคล้าย Pop-up ฉลุลาย หรือแบบ Paper mache, paper craft ไปซะเลยก็เจ๋งไม่เบา
  4. อย่าตกม้าตายด้วยการพิมพ์และสะกดผิด
    คุณไม่ต้องจับผิดกับบทความนี้พราะผมเชื่อว่ามันมีพิมพ์ผิดอยู่บางจุดแน่นอน แต่จงเอาเวลาไปจับผิดกับรายละเอียดข้อมูลที่อยู่ในงานออกแบบนามบัตรของเราจะดีกว่า ยิ่งมีภาษาต่างประเทศที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยด้วยละก็ยิ่งต้องใช้เวลาตรวจทานหรือต้องถามผู้รู้ให้กระจ่างจริง ๆ อย่างแน่นอน บางครั้ง หน้าที่ตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องผลักภาระให้กับเจ้าของนามบัตรที่ส่งข้อมูลมาให้เราก็ได้นะ เราอาจจะช่วยเขาตรงที่การสืบค้น หาข้อมูลการสะกดคำที่ถูกต้องนั้น ๆ ให้ด้วยก็ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการเอาใจใส่ลูกค้าอีกแบบหนึ่งด้วยนะผมว่า..
  5. สื่อสารให้ครบถ้วนแต่รวบรัด
    ใน 1 หน้ากระดาษของนามบัตรแผ่นเล็ก ๆ จะต้องมีอะไรบ้าง? แน่แหละ มันจะต้องมีข้อมูลที่สรุปแบบรวบรัด กระชับ ไม่ยืดยาว แต่ครบ! แน่นอนมันต้องมีชื่อ สกุล ตำแหน่ง หน้าที่ โอ้ย! เยอะนะเนี้ย เอาเป็นว่าผมสรุปให้แล้วกัน ก็คือ มันจะต้องบอกได้ว่า ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? ยังไง? คุณจะต้องมีที่อยู่ มีการบอกว่าธุกิจนั้น ๆ ทำอะไร? และที่สำคัญ ต้องติดต่อใคร? แค่นั้นเอง ไม่ยากเลย
  6. เรียบง่ายที่ลงตัว
    จงแสวงหาความเรียบง่าย เพราะนามบัตรที่ดูแล้วสบายตา สบายใจไม่รกหูรกตา ดูแล้วไม่รู้สึกอึดอัด มักจะถูกจดจำได้เสมอ นั้นแหละคือประโยชน์ของความเรียบง่าย และโดดเด่น
  7. รูปทรงที่เตะตา
    จำเป็นมั้ยที่เราจะต้องออกแบบนามบัตรเป็นสี่เหลี่ยมเสมอไป? ผมว่าไม่จำเป็นนะ รูปทรงกลมก็เคยมีมาแล้ว เจ๋งดีออก นอกจากนี้รูปทรงอิสระต่าง ๆ นั้นยังสามารถสร้างความเตะตาและสวยงามได้เป็นอย่างดีอีกด้วย แต่ข้อนี้ต้องระวังให้มากเพราะถ้ามันเยอะหรือทำให้ต้องลำบากในการเก็บ พกพา มันก็อาจจะกลายเป็นลงถังขยะแทนก็ได้นะ
  8. ต้องพกพาสะดวก
    ส่วนใหญ่เราจะเก็บนามบัตรไว้ที่ไหน? นี้คืออีกโจทย์หนึ่งที่เรานักออกแบจะต้องตอบให้ได้ และจะต้องทำให้นามบัตรที่เราออกแบบนั้นสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก โดยที่ไม่เป็นภาระสังคม คุณจะออกแบบให้มันอลังการมากขนาดไหนก็ได้ รูปทรงจะประหลาด วัสดุจะหรูหราขนาดไหนก็ได้ แต่เรื่องของการพกพา จะต้องถูกคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเสมอ
  9. การเลือกฟอนต์ตัวหนังสือ
    ฟอนต์ที่อ่านง่าย สบายตาในข้อความบรรทัดที่มีหลาย ๆ บรรทัด รู้สึกว่าจะมีชัยไปกว่าครึ่งนะ กับการอ่านข้อมูลบนพื้นที่เล็ก ๆ นั้น ส่วนฟอนต์ที่ต้องการให้มันเฟี้ยวฟ้าว ควรเน้นเอาไปใช้เฉพาะข้อความที่มีน้อยนิดหรือเฉพาะส่วนที่เป็นหัวข้อเล็ก ๆ ก็น่าจะสร้างจุดเด่นได้ไม่น้อยทีเดียว
  10. เป็นไปตามงบประมาณ!
    ข้อนี้สรุปแบบไม่โลกสวย ก่อนทำ ถามงบประมาณลูกค้ามาเลยครับว่าสู้ราคาไหวมั้ย ไม่ใช่ทำหรือคิดออกแบบแทบตาย สุดท้ายลูกค้าบอกมีงบแค่พิมพ์ลงบนกระดาษสี่สีหรือขาวดำ อันนี้แป็ก! จัดตามงบครับ พูดไปตรง ๆ เพราะทุกอย่างต้องมีงบ ลูกค้าต้องสู้ราคา เราถึงจะออกแบบให้ได้แบบเจ๋งเป้งสุด ๆ ดังใจลูกค้าต้องการ

10 ข้อ! พอแล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่จิตนาการจะเติมแต่งของนักออกแบบครับ มันมีไอเดียเป็นร้อยเป็นหมื่นไอเดีย ให้เราได้ลองทำ สุดท้ายเราก็ลองเอาไอเดียเหล่านั้นมาประยุกต์สร้างงานนามบัตรที่ไม่เหมือนใคร สร้างแล้วเจ๋งเป้ง เวลามอบให้ใครคนไหน ใครคนนั้นก็อยากจะเก็บไว้ด้วยความทนุถนอม หรือสร้างความประหลาดใจประทับใจในสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้รับ ถ้าเป็นได้ตามนั้น ถือว่าเราประสบผลสำเร็จใจการออกแบบนามบัตรนั้นแล้วครับ